ทีมวิจัย โครงการ Urban Heat Resilience หารือมูลนิธิดวงประทีปเพื่อขอความอนุเคาะห์ลงพื้นที่สำรวจชุมชนคลองเตย

25 สิงหาคม 2567 : สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI โดยโครงการ ‘Urban Heat Resilience’ บรรเทาเมืองระอุ: ผสานวิทยาศาสตร์ นโยบาย และการออกแบบที่ยั่งยืน นำโดย ดร.จีรนุช ศักดิ์คำดวง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย Dr. Niladri Gupta ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรน้ำจากศูนย์เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) และคุณ Simon Hammer ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (NbS) จาก Alluvium ร่วมด้วยเพื่อเข้าพบกับนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนคลองเตย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การเข้าพบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำรายละเอียดของโครงการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรภาคีที่เข้าร่วมในการประชุม ทีมงานได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการผสานวิทยาศาสตร์ นโยบาย และการออกแบบที่ยั่งยืนในการต่อสู้กับปัญหาความร้อนในเมือง พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะแจากมูลนิธิดวงประทีปเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโครงการให้ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน

โดยนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะในด้านการศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาทางสังคม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนคลองเตยมากขึ้น แต่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ นางประทีปได้ชี้ให้เห็นว่า ชุมชนแออัดในคลองเตยเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ไฟฟ้าลัดวงจรและเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากบ้านเรือนมีความแออัดและระบบไฟฟ้าไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่นางประทีปเน้นย้ำคือ ความร้อนในบ้านเรือน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ที่สภาพความเป็นอยู่ในบ้านที่อัดแน่นทำให้การระบายอากาศยากลำบาก ทำให้บ้านมีอุณหภูมิสูงและไม่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสบาย ด้วยเหตุนี้ นางประทีปจึงแสดงความสนใจอย่างมากในโครงการ ‘Urban Heat Resilience’ ซึ่งมุ่งเน้นการบรรเทาปัญหาความร้อนในเมืองผ่านการผสานวิทยาศาสตร์ นโยบาย และการออกแบบที่ยั่งยืน เธอเล็งเห็นว่า การมีโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาความร้อนโดยตรงจะสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นางประทีปได้เน้นย้ำว่า การเก็บข้อมูลจากชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ การเข้าใจปัญหาจากมุมมองของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จะช่วยให้โครงการสามารถพัฒนาวิธีการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งเธอพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่