ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ให้ข้อมูลกับ Xinhua (ซินหัว) สำนักข่าวจีนประจำประเทศไทย ถึงประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะที่เพิ่มมากขึ้น โดยดร.วิจารย์ ชี้ว่าขยะชุมชนในประเทศไทยมีประมาณ 28 ล้นตันต่อปี ในขณะที่โรงไฟฟ้ามีเพียงไม่กี่แห่ง
ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าขยะก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถดำเนิน การได้ เพียงแต่ต้องมีระบบบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ ที่ดี ไม่ว่าจะเป็น ระบบบำบัดมลพิษที่ดี เทคโนโลยีที่รองรับและมีความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ ดร.วิจารย์ ได้ให้ข้อมูลเสริมว่า การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่ในปัจจุบันชาวบ้านคัดค้านและไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังขาดการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในหลายๆด้าน เช่น เรื่องของการบริหารจัดการ เรื่องของสถานที่ที่หากเกิดทำในชุมชน ต้องสร้างความเข้าใจและวางแผนให้ดีว่าจะดำเนินการอย่างไร ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ยังมีโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ชุมชน พร้อมมีพื้นที่สีเขียวควบคู่ไปด้วย
อย่างไรก็ดี ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย แนะหากอนาคตทางรัฐบาลจีนหรือเอกชนจะเข้ามาลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ควรมีการลงพื้นที่ศึกษาที่ตั้งให้ชัดเจนว่าจังหวัดหรือพื้นที่ไหนควรมีการ จัดตั้ง เนื่องจากมองว่า หากจะมีโรงไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ควรคำนึงถึงปริมาณขยะชุมชนที่มีปริมาณมาก ดังนั้นก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐหรือท้องถิ่นต้องบริหารจัดการว่าทำอย่างไรให้หลายท้องถิ่นมาจัดการขยะในโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว เพื่อให้คุ้มค่าต่อการสร้าง โดยนำร่องในจังหวัดที่จำเป็น และหากประสบความสำเร็จค่อยขยายผลต่อไป ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่จะนำมาให้ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการทำงานของประเทศไทย
สำหรับ ซินหัวเป็นองค์กรสื่อของรัฐและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นองค์กรสื่อที่ใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศจีนรวมถึงเป็นสำนักข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกในด้านมีผู้สื่อข่าวทั่วโลก
Share: