แนวทางการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเชียงราย

27 พฤศจิกายน 2567 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI โดยคุณธนิรัตน์ ธนวัฒน์ ผู้จัดการและนักวิจัย โครงการ URBAN จัดประชุมทบทวนและหารือแนวทางจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ จ.เชียงราย โซนหนองฮ่าง ณ หอประชุมรุ่งตะวัน อบต.ทานตะวัน อ.พาน จ.เชียงราย โดยได้รับเกียรติจาก นายราเชน ดาสา นายกอบต.ทานตะวัน กล่าวเปิดงานประชุม 

หนองฮ่าง พื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับชาติ เนื้อที่กว่า 1.7 พันไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 1 อำเภอ 3 ตำบล รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำระดับท้องถิ่นโดยรอบอีกกว่า 50 แห่ง จัดอยู่ในประเภทภูมินิเวศแหล่งน้ำไหลและที่ลุ่มชื้นแฉะหรือหนองน้ำ ที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชบก กระถินณรงค์ ขี้เหล็ก พืชน้ำ ผักบุ้ง กระเฉด ปลาช่อน ตะเพียนหางแดง นกปากห่าง นกกระยาง ตลอดจน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างนากที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ จึงเป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของชุมชนคนรอบหนองฮ่าง ที่ยังคงพึ่งพิงต้นทุนทางธรรมชาติ โดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกข้าว จับสัตว์น้ำเพื่อบริโภค และใช้พื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงวัว ควาย รวมทั้งเป็ดไร่ทุ่ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในปัจจุบัน ประกอบกับกิจกรรมการรบกวนของมนุษย์ ย่อมทำให้หนองฮ่างตกอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นและวัชพืช ไม่ว่าจะเป็นผักตบชวา ปลาชะโด การเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้ง การพัดพาของตะกอนดิน ตลอดจนความต้องการใช้น้ำที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถการกักเก็บน้ำของหนองฮ่าง จนบางช่วงเกิดวิกฤติน้ำแห้งขอดถึงขั้นดินแตกระแหง จึงต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำหนองฮ่างให้กลับมามีนิเวศบริการตามธรรมชาติได้ดังเดิม

ทั้งนี้ ความท้าทายสำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำหนองฮ่าง พบว่า ชุมชนยังขาดความเข้าใจด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ขาดการบริหารจัดการน้ำในช่วงฝนและแล้ง ขาดแหล่งน้ำสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่ดูแลหนองฮ่าง ดังนั้น การถ่ายทอดองค์ความรู้ การสำรวจและรวบรวมข้อมูลสำคัญของหนองฮ่าง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นแนวทางในการวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำหนองฮ่างและพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดเชียงรายได้ต่อไป