15 November 2024 - Loy Kratong Festival (In Thai)

Thematic Areas: Biodiversity

สืบสานประเพณีไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
 
จากศรัทธาและความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นวิถีชีวิต ก่อให้เกิดวัฒนธรรมและประเพณีในแต่ละท้องถิ่น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้ผู้คนเริ่มขบคิด เพื่อปรับวิถีให้เหมาะสมตามกาลเวลา อย่างประเพณี“วันลอยกระทง” ที่จะวนมาถึงในปีนี้ ก็มีความคิดหลากหลายแง่มุม
 
กลุ่มคนที่หวงแหนธรรมชาติก็มองว่าการลอยกระทงทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ ส่งผลต่อสัตว์น้ำ เพราะกระทงมีจำนวนมาก ตามข้อมูลสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครซึ่งได้เผยตัวเลขว่าเมื่อปี 2566 จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทั้งสิ้น 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 11.74 แม้ส่วนใหญ่เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ยังมีกระทงโฟมที่จัดเก็บได้ จำนวน 20,877 ใบ  สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการสืบสานประเพณีอันดีงาม และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม    แม้จะมีการหันมาใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ แต่ยังจำเป็นต้องหาแนวทางในการลดจำนวนกระทง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหาในการจัดเก็บ และอีกส่วนหนึ่งทำมาจากวัสดุโฟม พลาสติก มีเศษวัสดุอื่นที่ย่อยสลายยาก
 
ในโอกาสที่ประเพณีลอยกระทง วนมาถึงในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 นี้  สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI   ขอเชิญชวนคนไทย ร่วมลอยกระทงด้วยแนวคิดสืบสานประเพณีไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้กระทงจากวัสดุจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ งดการใช้วัสดุ ตะปู หมุดโลหะ แม็กเย็บกระดาษ หรือลวด ในการทำกระทง หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่เปื่อยยุ่ยง่ายเมื่อโดนน้ำ เช่น กระทงกระดาษและกระทงขนมปัง ซึ่งมีปัญหาต่อการจัดเก็บ ไม่ใช้กระทงที่มีสารเคมี  และขอให้ใช้แนวคิดลอยด้วยกัน “หนึ่งกระทง หนึ่งครอบครัว” หรือ “ไปด้วยกัน ลอยกระทงเดียวกัน” เพื่อร่วมกันลดขยะ ร่วมดูแลธรรมชาติ และสืบสานประเพณีที่ยั่งยืน


เรียบเรียงโดย
นางสาวชุตินาฏ พงษ์ทองวัฒนา เจ้าหน้าที่สื่อสารและบริการสังคมอาวุโส
ขอบคุณที่มาของข้อมูล
เว็บไซต์ กรุงเทพมหานคร / สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม