Thematic Areas: Marine and Coastal Resources
พะยูน หญ้าทะเล และวิกฤตโลกเดือด
พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลบริเวณชายฝั่งเขตร้อน เราสามารถพบพะยูนได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ด้วยพะยูนเป็นสัตว์กินพืช และมีหญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก เราจึงมักพบพะยูนตามแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะแหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรัง และจังหวัดจันทบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ พฤติกรรมการกินของพะยูนยังช่วยให้แหล่งหญ้าทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศ และเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนชายฝั่ง
แต่จากต้นปีที่ผ่านมา แหล่งหญ้าทะเลบริเวณจังหวัดตรังและกระบี่เกิดการเสื่อมโทรมอย่างหนัก จากภาวะโลกเดือดที่ทำให้อุณหภูมิอากาศและน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าปกติ หญ้าทะเลตามชายฝั่งถูกผึ่งแห้งนานขึ้นในขณะน้ำลง ผนวกกับการทับถมและการเปลี่ยนสภาพของตะกอนในพื้นที่ ทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอ ใบขาดสั้นไม่สมบูรณ์ ราก เหง้าเน่าเปื่อย และบางส่วนยืนต้นตาย
ส่งผลให้พะยูนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศขาดแหล่งอาหาร และเกิดการเคลื่อนย้ายพื้นที่หาอาหารไปในบริเวณใกล้เคียง ทั้งในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกเรือพุ่งชน เนื่องจากในบริเวณนั้นไม่ค่อยมีพบพะยูนในพื้นที่ ทั้งนี้ จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี 2566 มีรายงานจำนวนพะยูน 282 ตัว และพบการเกยตื้นของพะยูน 36 ตัว แม้ว่าจำนวนประชากรพะยูนจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตจากแนวทางการอนุรักษ์ที่เข้มข้น แต่ยังคงพบการเกยตื้นหรือการตายของพะยูนต่อเนื่องทุกปี
เนื่องในวัน “อนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” 17 สิงหาคม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยขอเชิญชวนทุกท่านระลึกถึงความสำคัญของพะยูนที่ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนชายฝั่ง และตระหนักถึงภัยคุกคามจากปัญหาภาวะโลกเดือดที่กระทบต่อระบบนิเวศอันเปราะบางและใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ
Share: