10 พฤษภาคม วันป่าชายเลนแห่งชาติ (In Thai)

Thematic Areas: Marine and Coastal Resources

“โกงกาง” ไม้แห่งป่าชายเลน  
10 พฤษภาคม วันป่าชายเลนแห่งชาติ


ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ และยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนและผลิตออกซิเจนที่สำคัญ โดยสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าไม้เขตหนาวหรือป่าฝนเขตร้อนชื้น ราว 3-4 เท่า เมื่อเทียบพื้นที่เท่ากัน

รู้ไหม๊ว่า! มีการสำรวจพบชนิดพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน โดยประเทศไทยมี 96 ชนิด และขณะเดียวกันตามบัญชี IUCN Red List พบว่ามีพันธุ์ไม้ชายเลนหายากใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด ได้แก่ พังกา-ถั่วขาว (Bruguiera hainesii) ลำแพนหิน (Sonneratia griffithii) หงอนไก่ใบเล็ก (Heritiera fomes) แสมขน (Avicennia lanata) และหลุมพอทะเล (Intsia bijuga)

หนึ่งในชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลน ก็คือ ต้นโกงกาง (Rhizophora) ที่ได้รับการขนานนาม “ไม้แห่งป่าชายเลน” ด้วยการที่มีรากค้ำจุนให้สามารถยืนต้นตั้งตรงอยู่ได้ในสภาพพื้นที่เป็นโคลน มีการแตกแขนงออกมา โคน ลำต้น หรือแม้แต่กิ่ง หยั่งลงไปยังพื้นโคลนเพื่อช่วยพยุงต้น และมีรากเพื่อการหายใจซึ่งเป็นเสมือนหลอดดูดเพื่อออกมารับออกซิเจน  รากต้นโกงกางได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนแผงกั้นป้องกันการกัดเซาะของกระแสน้ำและแนวกำบังคลื่นลมที่เคลื่อนเข้ามาปะทะชายฝั่ง และยังเป็นแหล่งวางไข่ ขยายพันธุ์ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน

โกงกาง จัดเป็นชนิดพันธุ์กุญแจสำคัญ หรือที่เรียกว่า Keystone specie ของระบบนิเวศป่าชายเลน เพราะหากไม่มีต้นโกงกางที่เต็มไปด้วยรากค้ำจุนอันแข็งแรง ป่าชายเลนก็อยู่ไม่ได้

โกงกางชอบดินที่เป็นโคลนเลน น้ำท่วมถึง เติบโตอยู่ได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด จึงมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อที่จะอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยและดำรงเผ่าพันธุ์ได้ ส่วน “ใบ” ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเหมือนต้นไม้ทั่วไป และ
ยังทำหน้าที่ขับเกลือหากเติบโตในน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย นั่นเป็นความสามารถในการปรับตัวและวิวัฒนาการ  

มาทำความรู้จักต้นโกงกางที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่ โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่ มีความแตกต่างกันก็คือ
โกงกางใบเล็ก – มีใบเดี่ยว ยาวและเรียว ช่อดอกมี 2 ดอก ผลเป็นทรงกลมคล้ายไข่ เมื่อผลแก่จะไม่แตก ส่วนรากค้ำยันที่ออกมาจากโคนต้นจะทำมุมเกือบตั้งฉากและหักเป็นมุมลงดินเพื่อพยุงลำต้น
โกงกางใบใหญ่ – มีใบเดี่ยวที่ใหญ่และกลมกว่า ช่อดอกประกอบด้วยดอก 2-12 ดอก ผลมีลักษณะทรงกลมคล้ายไข่เช่นกัน โดยจะงอกยื่นยาวออกมาคล้ายฝัก มีรากค้ำยันที่แตกจากโคนต้นและค่อยๆ โค้งลงดิน ไม่หักเป็นมุมดังเช่น รากค้ำยันของโกงกางใบเล็ก

ต้นโกงกาง เป็นไม้แห่งป่าชายเลนที่มีวิวัฒนาการอย่างตั้งใจและเพื่อความอยู่รอด ทุกรายละเอียดออกแบบมาอย่างมีหน้าที่และความหมาย รวมถึงการขยายพันธุ์ เมื่อผลโกงกางพร้อมจะขยายพันธุ์ จะไม่หลุดออกจากต้นแม่ในทันที ซึ่งต่างจากพืชสายพันธุ์อื่น ๆ โดยจะเริ่มเจริญเติบโตตั้งแต่ผลที่ยังติดอยู่บนต้นไม้ รากจะเริ่มงอกยาวออกมา มีลักษณะเป็นแท่งแหลมแข็งทำให้ปักได้ง่ายทันทีที่มันตกลงมาจากต้น ทำให้ผืนป่าชายเลนยังคงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไว้ได้

ด้วยความสำคัญของป่าชายเลน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 ต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” เพื่อการรณรงค์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นคุณค่าของป่าชายเลน และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน  


เรียบเรียงโดย: พวงผกา  ขาวกระโทก นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย


แหล่งข้อมูล: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง/ บทความ Structure and Diversity of Plants in Mangrove Ecosystems โดย Mohd Nazip Suratman, 2021 / สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย. /The IUCN Red List of Threatened Species