Wetlands and Human Wellbeing
พื้นที่ชุมน้ำและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) มีความสำคัญต่อมนุษย์และธรรมชาติ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำฝน และน้ำท่า ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งพังทลาย ดักจับตะกอนและแร่ธาตุ ดักจับสารพิษ เป็นแหล่งทรัพยากรและผลผลิตธรรมชาติที่มนุษย์เข้าไปเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งที่อยู่ของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ ที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งของผู้ผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร มีคุณค่าและความสำคัญต่อวิถีชีวิตทั้งของมนุษย์ พืช และสัตว์
ด้วยความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ประชาคมโลกจึงกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” โดยในปี 2567 นี้ ได้กำหนดหัวข้อ
“Wetlands and Human Wellbeing พื้นที่ชุ่มน้ำและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์” เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำได้ร้อยเรียงชีวิตและผู้คนเข้าด้วยกัน เราจึงควรช่วยกันดูแล รักษา สนับสนุน ระบบนิเวศที่มีคุณค่าที่สุดของเรานี้
ดังกรณีพรุควนเคร็ง พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและพึ่งพิงการใช้ประโยชน์ฐานทรัพยากรเชื่อมร้อยกับชุมชนท้องถิ่นโดยรอบพรุแห่งนี้มายาวนาน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ชุมชนและภาคีในระดับพื้นที่ได้ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และภาคส่วนต่าง ๆ ทำการสำรวจและประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์ทางตรงพื้นที่พรุ (
คลิกอ่านรายงาน) อาทิ มูลค่าการใช้กระจูดสด ผลิตภัณฑ์กระจูด ผึ้งป่า ปลาน้ำจืด ฯลฯ รวมทั้งการยกระดับผลิตภัณฑ์กระจูด จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนสร้างความมั่นคงแก่เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่พรุ จัดทำแปลงสาธิต กำหนดกติกาการใช้ประโยชน์กระจูดร่วมกัน พัฒนาศักยภาพครูไฟป่า ส่งเสริมเยาวชนและชุมชนมีส่วนร่วมจัดการพรุ พร้อมศึกษากฎระเบียบและเสนอมาตรการแรงจูงใจจัดการพื้นที่พรุอย่างยั่งยืน
เห็นได้ว่าวิถีคนพรุควนเคร็งกับฐานทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่แห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกัน จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทำให้คนพรุควนเคร็งทุกเพศทุกวัยหวงแหนและมีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากพรุควนเคร็งอย่างยั่งยืนสืบต่อไป
เรียบเรียงโดย
พวงผกา ขาวกระโทก นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
Share: