TEI เสริมพลังสู่การบุกเบิกอนาคตการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของอาเซียน (In Thai)

6 สิงหาคม 2567  สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI นำโดย ดร.ฉัตรตรี ภูรัต ผู้อำนวยการฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ “Greening Thailand's Public Procurement: Ecolabelling Integration” ในงาน C asean Forum - Pioneering the Future of ASEAN Green Procurement  โดยมี นายสุวิทย์ มังคละ รองอธิบดี กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งจัดโดย ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD), C asean, และ Thailand Supply Chain Network ณ C asean Auditorium ชั้น 10 CW Tower รัชดาภิเษก กรุงเทพ

โดยการประชุมนี้เป็นการรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ อาทิ ภาครัฐ ผู้นำในอุตสาหกรรม SMEs และผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เพื่อหารือและผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน ด้วยโอกาสที่คาดว่าจะมีมูลค่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การจัดซื้อจัดจ้างแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของตลาดผ่านอำนาจซื้อเชิงกลยุทธ์ ขับเคลื่อนความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy หรือ CE)

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งปันประสบการณ์ของวิทยากรจากประเทศสมาชิกอาเซียนต่าง ๆ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย Asian Development Bank (ADB), EU SWITHC-ASIA ซึ่งมีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดกลยุทธ์ที่นำไปปฏิบัติได้จริงในการนำ GPP มาใช้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน และเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อเอาชนะความท้าทายและการตระหนักถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายในงานยังมีพื้นที่จัดแสดงผลงานที่เกี่ยวข้องกับจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน โดยมีทีมนักวิจัย TEI ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฉลากเขียว ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 ของประเทศไทย

ทั้งนี้การนำแนวทางการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ช่วยให้ธุรกิจสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยการเลือกซัพพลายเออร์ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความมุ่งมั่นในการรักษาความยั่งยืนนี้จะช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงของแบรนด์ ดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาด และยังช่วยให้ธุรกิจปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงจากการลงโทษทางกฎหมาย และเพิ่มการปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยรวม การลงทุนในแนวทางที่ยั่งยืนยังนำไปสู่การประหยัดต้นทุนในระยะยาวผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การลดของเสีย และการประหยัดพลังงาน