หารือผู้นำชุมชนบ้านโป่งกลางน้ำ พื้นที่สูงวาวี ร่วมใจขับเคลื่อนลดการเผาและลดหมอกควันข้ามแดน (In Thai)

14-15 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI โดยโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา การจัดการและลดหมอกควันข้ามแดน นำโดยคุณวิลาวรรณ น้อยภา หัวหน้าโครงการ คุณวชิราภรณ์ สมเดช ผู้ประสานงาน คุณภราดร นายหว่าง เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี สวพส. ได้ร่วมหารือต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการกิจกรรมนำร่องการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน ขับเคลื่อนกิจกรรมลดการเผาในชุมชนนำร่องบ้านโป่งกลางน้ำ ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ร่วมกันจัดทำร่างแผนงานโครงการ “โป่งกลางน้ำ พื้นที่สูงวาวี ร่วมใจลดการเผา ลดหมอกควันข้ามแดน” โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกลไกชุมชนในการบริหารจัดการลดการเผา ลดหมอกควันข้ามแดนเชิงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน ท้องถิ่น และท้องที่ พร้อมนำหารือความเหมาะสมของแผนงานและกิจกรรมกับคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อให้ข้อคิดเห็นและเห็นชอบต่อการร่างแผนเพื่อนำไปปฏิบัติกิจกรรมให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่จะถึงนี้ต่อไป

บ้านโป่งกลางน้ำ หมู่ที่ 12 ถูกเสนอเป็นพื้นที่นำร่องลดเผาและลดหมอกควันข้ามแดนของพื้นที่สูงวาวี ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย มีพื้นที่เป็นภูเขาและที่ราบเชิงหุบเขา ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย มีประชากรมากกว่า 2,000 คน เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ชนเผ่าเมี่ยน อาข่า มูเซอ ลีซอ และไทยใหญ่ มีหมู่บ้านบริวาร 11 หย่อมบ้าน ในอดีตพบว่าพื้นที่จุดความร้อนจากการเผาเป็นจำนวนมากที่สุดในตำบล ซึ่งปีต่อมาผู้นำชุมชนและลูกบ้านได้ร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันการเผาและไฟลามแปลงเกษตร เพื่อปกป้องพืชเศรษฐกิจสำคัญคือ ชา กาแฟ และยาง  และระบบเกษตรอินทรีย์ของพื้นที่และไม่ปรากฎจุดความร้อน จึงเป็นความร่วมมือและแนวปฏิบัติที่ดี

จากการหารือร่างโครงการ ผู้นำชุมชนและผู้ดูแลทั้ง 11 หย่อมบ้านบริวาร ต่างเห็นด้วยต่อร่างโครงการและแผนกิจกรรม และให้ความสนใจต่อการจัดการและใช้ประโยชน์จากเศษฟางข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อรวบรวมนำมาทำปุ๋ยในรูปแบบธนาคารปุ๋ยชุมชน เพื่อให้เกิดการจัดการ ลดการเผา และแบ่งปันใช้ประโยชน์ในระบบเกษตร ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี โดยโครงการและภาคีความร่วมมือยินดีจัดกระบวนการฝึกสาธิตให้องค์ความรู้ส่งเสริมการนำเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และลดต้นทุนให้กับเกษตรกรในระยะต่อไป